โครงการศึกษา และสนับสนุน การเผยแพร่ความรู้ด้านพลังงานนิวเคลียร์ ผ่านกลุ่มสังคมเศรษฐกิจสัมพันธ์ และกลุ่มสตรีแม่บ้าน
โครงการศึกษาและสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ด้านพลังงานนิวเคลียร์ผ่านกลุ่มสังคมเศรษฐกิจสัมพันธ์และกลุ่มสตรีแม่บ้านเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ทางกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มสตรีแม่บ้านให้เล็งเห็นความสำคัญของพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพพลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาด ทางกระทรวงพลังงานจึงเข้ามาขับเคลื่อนพลังงานชุมชนไปพร้อมกับ การดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดหาพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
สรุปผลจากการจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มสตรีแม่บ้านในหลายจังหวัด เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และนครราชสีมา ทั้งหมดประมาณกว่า 600 คนโดยมีกลุ่มสตรีหลากหลายอาชีพเช่น กลุ่มแม่บ้านจักรสาน ปลาส้ม ปลาตากแห้ง กล้วยตาก ฯลฯซึ่งนอกจากประกอบอาชีพต่างๆ ยังเป็นสมาชิกของคณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบล สมาชิกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พบว่า กลุ่มสตรีแม่บ้านมีความเข้าใจด้านพลังงานของประเทศไทยที่มีความจำเป็นในการสร้างความมั่นคง ด้านพลังงานและการพัฒนาพลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาดในระดับหนึ่งและได้สะท้อนความต้องการให้กระทรวงพลังงานเดินหน้าผลักดันโครงการที่มีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนสตรีแม่บ้าน
นางพรศรี พรหมนุช ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบลป่าร่อน อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “หลังจากเข้าร่วมรับฟังแล้วมีความเข้าใจถึงความสำคัญด้านพลังงานของประเทศ มากยิ่งขึ้น สิ่งหนึ่งที่อยากให้ทางกระทรวงพลังงานดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไปคือการให้การสนับสนุนด้านพลังงานกับกลุ่มสตรีในการสร้างอาชีพให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดให้การสนับสนุนอย่างจริงจังจนสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มสตรีแม่บ้านทั่วประเทศ
เช่นเดียวกับ นางวาสนา พรมภักดี ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งระบุว่า “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเมืองและสังคมท้องถิ่น พัฒนาไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและพลังงานไฟฟ้าเพื่อความอำนวยความสะดวกในการดำรงชีพ และพลังงานมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการเดินทาง คมนาคมขนส่งและอื่นๆ และราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานหันไปสู่การพึ่งพาตนเองโดยเชื้อเพลิงที่จัดหาได้มาใช้เป็นพลังงานและช่วยกันประหยัดพลังงาน ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงานจากทางกระทรวงพลังงานจะทำให้กลุ่มสตรีสามารถพึ่งพาตนเองได้และเป็นร่วมเป็นเครือข่ายในการช่วยเหลือและสนับสนุนโครงการของกระทรวงพลังงานให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
โดยเนื้อหาของผู้ที่เป็นวิทยากรหลักในการเข้าไปสร้างความรู้ความเข้าใจในหลายพื้นที่ภายใต้การดำเนินงานโครงการครั้งนี้ดังกล่าวนี้ประกอบด้วย
ดร.จารุณีย์ ทองผาสุก นักวิชาการอาวุโส สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ประเพณีหลายประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทสตรีเช่น จีน อินเดียและญี่ปุ่นรวมถึงชาวยุโรป ส่วนสตรีไทยนับว่าโชคดีที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับบุรุษอีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญมากในการที่จะนำไปสู่การพัฒนาพลังงานไทยด้วยการสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมากที่สุดถึงร้อยละ 73 และมีให้ใช้ได้อีกประมาณ 15-20 ปีซึ่งการพึ่งพาเชื้อเพลิงเกิดความเสี่ยงมากจำเป็นต้องสรรหาพลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาดเช่นพลังงานลม น้ำ แสงอาทิตย์และพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งพลังงานหลายอย่างมีข้อดีและข้อจำกัดต่างกันกล่าวคือพลังงานลมสามารถติดตั้งกังหันได้บางพื้นที่ที่มีศักยภาพลมพัดตลอดปี พลังแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะเวลากลางวัน พลังงานน้ำไม่มีที่ สร้างเขื่อนแล้ว และ “พลังงานนิวเคลียร์”เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือก เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด กระบวนการทำงานไม่มีการสันดาปหรือเผาไหม้จึงไม่เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังคุ้มค่ากับการลงทุนและผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าพลังงานประเภทอื่น ยกตัวอย่างคือ ยูเรเนียม 235 ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ยูเรเนียมเพียง1 เม็ดให้ความร้อนเท่ากับน้ำมัน 5,000 ลิตรหรือถ่านหิน 1,000 กิโลกรัม
ขณะที่มุมมองของนักวิชาการ คือ ดร.ดุลยพงศ์ วงศ์แสวง คณะวิศวกรรมศาสตร์ภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวถึง “เกิดอะไรขึ้นที่ฟูกูชิมา ประเทศญี่ปุ่น” ว่า “การระเบิดของโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นคือส่วนโครงหลังคาที่คลุมเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าไว้ ไม่ใช่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิด เพราะ ระบบหล่อเย็นสำรองฉุกเฉินถูกคลื่นสึนามิพัดพังทลายไป ทำให้ระบบหล่อเย็นไม่สามารถทำงานได้ เตาปฏิกรณ์จึงจุดสตาร์ทขึ้นเองทำให้ทีมงานต้องใช้วิธีฉีดน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงไม่ได้ความร้อนสูงเกินไป ทำให้เกิดไฮโดรเจน ซึ่งเป็นสารประกอบของน้ำเกิดการสะสมบริเวณใต้โครงหลังคาอีกทั้งยังเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนแพร่กระจายในอากาศ กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องนำกรณีศึกษาของญี่ปุ่นไปประชุมหารือเพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต่อไปในอนาคต หลายประเทศเช่นจีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ฯลฯ ยืนยันเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป นั่นเพราะพลังงานพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานแห่งอนาคตและเป็นพลังงานสะอาด
คุณพงศ์พัฒน์ มั่งคั่ง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หัวข้อเรื่อง “วิถีไทยกับวิถีใช้พลังงาน เราลดหรือเพิ่มโลกร้อน” กล่าวว่า “ผลจากการใช้พลังงานปริมาณมหาศาลทั่วโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศ ขณะที่แนวโน้มราคาพลังงานนับวันยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องลดการพึ่งพาพลังงานหลัก หันไปไปใช้พลังงานทางเลือกใหม่เช่นพลังงานลม น้ำ แสงอาทิตย์ และพลังงานนิวเคลียร์ เมื่อพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์หลายคนอาจเกรงกลัวอันตราย ขณะนี้แม้ว่าประเทศไทยจะไม่สร้างหรือสร้างไม่ได้ แต่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นเวียดนามเริ่มการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ คาดว่าจะเสร็จตามแผนภายใน 10 – 15 ปี ซึ่งจะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าฐานถูกกว่าประเทศไทย 1.63 บาทต่อหน่วยในปีปัจจุบันหรือ 2.70 – 3.10 บาทต่อหน่วย ในอนาคตเพียงพอที่จะดึงดูดนักลงทุนให้ไปลงทุนในประเทศของเขามากยิ่งขึ้นไปอีก เราสามารถหยุดภาวะโลกร้อนได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้พลังงาน เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างพอเพียงเพื่อให้มีพลังงานเพียงพอ อีกทั้งต้องมีการสำรองพลังงาน เพื่อลูกหลานไทยในอนาคต”